วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นักวิชาการ-หอฯภูเก็ตร้องรัฐดูแลโชวห่วย ออกกติกาไม่ให้ยักษ์ใหญ่กลืนร้านค้าเล็ก

สมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทยระดมความคิดเห็น จากภาคีต่างๆ ในภูเก็ตต่อร่างกฎหมายค้าปลีกค้าส่งที่จะออกมาบังคับใช้ นักวิชาการในพื้นที่ภูเก็ต และหอการค้าภูเก็ตไม่ขีดกันค้าปลีกข้ามชาติ แต่รัฐต้องมีเงื่อนไขที่ทำให้โชวห่วยดั้งเดิมเอยู่รอด ขณะที่นักวิชาการจากส่วนกลางมองว่าการรุกเข้ามาทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ส่วนโชวห่วยหากไม่ต้องการล้มหายตายจากต้องปรับปรุงตัวเองให้ทันสมัยสู้กับยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เพราะมีจุดแข็งทำเลที่อยู่ในเมืองและชุมชน 

สมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทย และภาคีเครือข่ายการคุ้มครองผู้บริโภค จัดเวทีสาธารณะ ครั้งที่ 4 “ผ่าโครงสร้างร่างกฎหมายค้าปลีกค้าส่งสู่ประโยชน์ผู้บริโภค” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติกฎหมายค้าปลีกและค้าส่ง เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอประเด็นต่างๆ ที่คิดว่าเกิดประโยชน์กับผู้บริโภคสูงสุด โดยมีประชาชน ร้านค้าปลีก ภาครัฐและเอกชนในภูเก็ตเข้าร่วมที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา 

นายชาตวิทย์ มงคลแสน นายกสมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทย กล่าวว่า การเปิดเวทีสาธารณะในครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคทุกภาคส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพต่อร่างกฎหมายค้าปลีกค้าส่ง เพื่อกำหนดสาระสำคัญให้การบัญญัติกฎหมายการประกอบธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ได้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนผู้บริโภคโดยตรง และเป็นการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่มีคุณค่า คุณภาพ โดยยึดถือประชาชนผู้บริโภคมีส่วนร่วมกระบวนการตรากฎหมายเป็นหลักสำคัญ จนสิ้นสุดกระบวนการ 

รวมทั้ง เพื่อเก็บตก สาระ ประเด็นต่างๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ของร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่เป็นความคิดเห็ฯจากองค์กรประชาสังคมทุกภาคส่วน ที่เข้าร่วมเวทีสาระ นำเสนอแล้วส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทบทวนพิจารณาปรับปรุงต่อไป 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคประชาชนคนไทย ก่อนบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลจะตัดสินใจว่าจะให้มีกฎหมายค้าปลีกค้าส่ง โจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องตอบคือ ผู้บริโภคต้องการอะไร ผู้บริโภคต่างหากจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะมาตัดสินแทนว่าอยากจะเอาใจผู้ประกอบการรายใหญ่หรือท้องถิ่นหรือผู้ผลิต เพราะการตัดสินใจของรัฐบาลอาจจะไม่ตรงกับความต้องการหรือเอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคแต่อย่างใด และเท่าที่ทราบจะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่งเข้าสู่การพิจารณาและประกาศใช้ให้ทันในรัฐบาลชุดนี้ 

ด้าน ดร.วิญญู วีรยางกูร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวว่า ร้านค้าปลีกในพื้นที่หรือโชวห่วยไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขัน ทั้งจากค้าปลีกข้ามชาติและค้าปลีกรายใหญ่จากส่วนกลางได้ เพราะค้าปลีกเหล่านั้นต้องการที่จะขยายการขายสินค้าออกสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น และการเข้ามาของค้าปลีกรายใหญ่ได้นำรูปแบบการค้าที่ทันสมัยเข้ามา ซึ่งค้าปลีกที่มีอยู่ในพื้นที่ไม่สามารถที่จะปรับตัวแข่งขันได้ 

ดังนั้น จำเป็นที่แต่ละจังหวัดจะต้องทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ระหว่างค้าปลีกรายใหญ่กับค้าปลีกรายย่อยในพื้นที่ โดยการทำให้เกิดการแข่งขันที่มีการขีดเส้นกำหนดเงื่อนไขให้ค้าปลีกทั้งรายเล็กและรายใหญ่อยู่ได้ เช่น อาจจะกำหนดให้ค้าปลีกรายใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่กำลังเติบโต ส่วนค้าปลีกรายย่อยในพื้นที่ก็จะอยู่ในตัวเมืองและชุมชนต่างๆ เพราะเชื่อว่าหากค้าปลีกรายใหญ่เข้ามาพร้อมกันหลายห้างรายย่อยย่อมที่จะแข็งขันไม่ได้อยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ค้าปลีกรายย่อยในพื้นที่เองก็จะต้องปรับตัวเองให้เป็นร้านที่ทันสมัย สินค้าหลากหลายโดนใจถูกค้ามากขึ้น 

ดร.วิญญู กล่าวในตอนท้ายว่า เห็นด้วยที่กฎหมายค้าปลีกค้าส่งจะออกมาบังคับใช้ในรัฐบาลชุดนี้หรือชุดที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้ 

ขณะที่ ดร.อธิวัฒน์ สินรัชตานันท์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การรุกเข้ามาของค้าปลีกรายใหญ่และค้าปลีกข้ามชาตินั้นจะเป็นการทำให้ร้านโชวห่วยพลิกวิกฦตให้เป็นโอกาสโดยการปรับปรุงร้านค้าของตนเองให้เป็นร้านที่ทันสมัย โดนใจลูกค้า สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เพราะร้านโชวห่วยในพื้นที่จะได้เปรียบในแง่ของทำเลที่ตั้งที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่า อยู่ในชุมชน อยู่ในตัวเมือง ขณะที่ค้าปลีกรายใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างออกไป ดังนั้นโชวห่วยแต่ละร้านจะต้องหาจุดแข็งและจุดอ่อนมาปรับปรุงแข่งขันกับรายใหญ่ให้ได้ 

ส่วนจะเห็นด้วยกับการประกาศใช้กฎหมายค้าปลีกค้าส่งหรือไม่นั้น ดร.อธิวัฒน์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่ามีกฎหมายควบคุมค้าปลีกรายใหญ่อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนเท่านั้นเอง กฎหมายใหม่ที่จะออกมานั้นเป็นการผูกขาดการอนุญาตให้ก่อสร้าง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการทุจริตเพราะต้องวิ่งเต้นในการขออนุญาตก่อสร้าง คิดว่าจะทำให้คนที่มีอำนาจอนุญาตร่ำรวยขึ้นมาได้ภายใน 6 เดือน กฎหมายค้าปลีกค้าส่งจำเป็นต้องมีแต่อย่าเพิ่งตัดสินใจประกาศใช้ในรัฐบาลที่มาจากการปฎิรูปจะต้องพิจารณาให้รอบครอบกว่านี้ 

นายชวนะ เกียรติชวนะเสวี 
ประธานกรรมการค้าปลีกหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่ขีดกันที่จะให้ค้าปลีกข้ามชาติและค้าปลีกรายใหญ่เข้ามาในพื้นที่ แต่การเข้ามานั้นจะต้องมีเงื่อนไขที่ร้านค้าเล็กๆ ในพื้นที่อยู่ได้ด้วย ซึ่งคิดว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันมากขึ้น โดยรัฐจะต้องวางกติกาและเงื่อนไขที่ทำให้ร้านค้าปลีกรายย่อยในพื้นที่ที่ค้าขายกันมาตั้งแต่ดั้งเดิมอยู่ใต้หลังมีค้าปลีกรายใหญ่เข้ามา 

ที่ผ่านมาหอการค้าจังหวัดภูเก็ตได้ออกมาเรียกร้องให้จังหวัดภูเก็ต หยุดการขออนุญาตขยายสาขาของค้าปลีกรายใหญ่ รวมทั้งให้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ภูเก็ต และให้รัฐเข้ามาดูแลโดยการตั้งกองทุนให้ค้าปลีกรายย่อยนำมาพัฒนาและปรับปรุงร้านค้าให้ทันสมัย เพราะเราต้องยอมรับว่าค้าปลีกรายย่อยบางราย ไม่ได้มีเงินทุนมากพอที่จะปรับปรุงร้านให้ทันสมัยได้ 

“ภูเก็ต เป็นพื้นที่แรกให้ภาคใต้ที่ค้าปลีกรายใหญ่เข้ามาเต็มพื้นที่ รวมทั้งร้านสะดวกซื้อที่ผุดขึ้นทุกชุมชน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค้าปลีกในพื้นที่ และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะนำกฎหมายค้าปลีกค้าส่งมาบังคับใช้ เพื่อไม่ให้ร้านค้าเล็กล้มหายตายจากไปทั้งหมด” 

นายมีพาศน์ โปตระนันท์ อดีตกรรกมารกฤษฎีกา กล่าวว่า การแข่งขันที่รุนแรงของค้าปลีกทั้งจากข้ามชาติและในประเทศ จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ที่สามารถมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าได้มากขึ้น และเห็นว่าการเข้ามาลงทุนของค้าปลีกข้ามชาติ จะทำให้ค้าปลีกที่มีอยู่ในพื้นที่ได้พัฒนาตัวเองสู่ค้าปลีกสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น